การดูแลบ้านหลังน้ำท่วม
หลังจากน้ำลดลง ผู้ที่ประสบภัยกับน้ำท่วม ถึงเวลาในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของตนเอง เพื่อการดำเนินชีวิตต่อไปขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะคะ ทีนี้เพื่อนๆจะต้องตรวจสอบอะไรกันบ้างมาดูกันค่ะ
ตรวจสอบระบบไฟฟ้า
- ขั้นตอนเบื้องต้น ให้เปิดคัทเอ้าท์ให้มีกระแสไฟฟ้าเข้ามา เพื่อเช็คว่ามีจุดไหนที่เสียหายไหม ถ้าปลั๊กหรือจุดใดจุดหนึ่งในระบบยังเปียกชื้นอยู่ คัทเอ้าท์จะตัดไฟและฟิวส์จะขาด ให้เปลี่ยนฟิวส์แล้วทิ้งไว้ 1-2 วัน เพื่อให้ความชื้นระเหยออกไปแล้วลองทำใหม่ แต่ถ้าหากยังเป็นเหมือนเดิมคงต้องตามผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแก้ไขนะคะ
- เมื่อทดสอบขั้นตอนแรกไปแล้ว ลองไล่ทดสอบเปิดไฟฟ้าทีละจุด และทดสอบกระแสไฟฟ้าในปลั๊กว่ามาปกติหรือไม่ด้วย โดยใช้ไขควงวัดไฟ หากทุกจุดทำงานได้ก็สบายใจได้ หากมีปัญหาอยู่ต้องรอให้ความชื้นระเหยออกก่อน ถ้ายังมีปัญหาก็คงต้องตามผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแก้ไขเช่นเดิมค่ะ
- ลองดับไฟทุกจุดในบ้าน ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทั้งหมด แต่ยังเปิดคัทเอ้าท์ไว้แล้วลองไปดูมิเตอร์ไฟฟ้าหน้าบ้านว่า หมุนหรือไม่ หากไม่เคลื่อนไหวแสดงว่าไฟฟ้าในบ้านเราไม่น่าจะรั่ว แต่ถ้ามิเตอร์หมุนแสดงว่าไฟฟ้าในบ้านท่านอาจจะรั่วได้ ให้รีบตามช่างไฟมาดูแลโดยเร็วที่สุดค่ะ
ตรวจสอบระบบประปา
- ถ้ามีบ่อเก็บน้ำใต้ดินหรือถังเก็บน้ำใน ระดับน้ำท่วมถึงน้ำในนั้นจะกลายเป็นน้ำสกปรกทันที ดังนั้นควรล้างทำความสะอาดถังน้ำและบ่อน้ำให้สะอาดอีกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของเพื่อนๆและสมาชิกในบ้าน แล้วค่อยปล่อยน้ำประปาใหม่ลงเก็บไว้ใช้งานอีกครั้งหนึ่งค่ะ
- บ้านที่มีระบบปั๊มน้ำควร ตรวจสอบอุปกรณ์ปั๊มน้ำว่าใช้งานได้เหมือนเดิมหรือไม่ โดยพิจารณาเสียงเครื่องทำงาน ดูความแรงของน้ำว่าเหมือนเดิมก่อนน้ำท่วมหรือไม่ ถ้าไม่ปกติเหมือนเดิมต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบนะคะ
ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้า
ถ้าไม่จำเป็นจริงๆอย่าเพิ่งใช้เด็ดขาดควรให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนตรวจสอบให้จะดีที่สุด เพราะอุปกรณ์เครื่องใช้เหล่านี้เมื่อโดนน้ำท่วมเข้าไปในเครื่องแล้ว เราไม่มีทางรู้เลยว่าเจ้าเครื่องใช้เหล่านี้จะได้รับเสียหายแค่ไหนค่ะ
ซ่อมผนังบ้าน
- ผนังไม้ ปกติไม้จะไม่เสียหายเมื่ออยู่ใต้ระดับน้ำ แต่มักผุกร่อนในจุดที่มีน้ำขึ้น น้ำลง ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อน้ำลดให้เอาผ้าเช็ดทำความสะอาด ขจัดคราบสกปรกออกเพื่อสุขภาพคนในบ้าน เพื่อให้ผิวไม้ระเหยความชื้นออกไปได้ เมื่อแน่ใจว่าผนังแห้งดีแล้วต้องแห้งจริงๆนะคะ ให้ใช้น้ำยารักษาเนื้อไม้ทาชะโลมลงที่ผิว การทาสีหรือยารักษาเนื้อไม้อาจทำภายในก่อนก็ได้เพื่อความสวยงามในการอยู่อาศัย แล้วรออีกสักพัก ( 3-4 เดือน ) จึงค่อยซ่อมแซมทาภายนอกอีกทีเพราะเวลาจะทำให้ผนังภายนอกแห้งสนิทดีแล้วค่ะ
- ผนังก่ออิฐฉาบปูน ให้ ดำเนินการเหมือนกับผนังไม้ แต่ต้องทิ้งระยะเวลานานกว่าไม้ เนื่องจากผนังอิฐจะมีการเก็บกักความ ชื้นในตัวสูงมากกว่าไม้ จึงต้องใช้เวลาระเหยความชื้นออกไปนานกว่านั่นเองค่ะ
การซ่อมแซมประตู
- ประตูไม้ เมื่อโดนแช่น้ำก็จะบวมและผุพัง มีวิธีแก้ก็โดยทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วซ่อมแซมส่วนที่ผุให้เรียบร้อยแล้วจึงทาสีใหม่ แต่ถ้าผุมากก็ไม่ควรที่จะนำมาใช้อีกนะคะ
- ประตูเหล็กที่ขึ้นสนิม ก็ใช้กระดาษทรายขัดสนิมออก เช็ดให้สะอาดแล้วจึงทาสีใหม่ โดยอย่าลืมทาสีกันสนิมก่อน แต่อย่าลืมดูรอยต่อต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นท่อโครงเหล็กว่า มีน้ำหลงเหลืออยู่เหลือเปล่า ต้องให้แห้งจริงๆ ก่อนจึงจะทาสีได้
- ประตูพลาสติก ส่วนใหญ่จะทนน้ำได้ แต่ให้ระวังในส่วนน้ำที่เข้าขังในช่องว่างของประตู ให้หาวิธีซับน้ำหรือเจาะรูให้น้ำออก
ซ่อมแซมสีทาบ้าน
ควรเป็นสิ่งสุดท้ายในการแก้ไขปรับปรุงบ้าน เพราะเป็นเรื่องของเวลาที่ต้องปล่อยทิ้งให้ความชื้นหรือน้ำในตัววัสดุ ระเหยออกไปให้ได้มากที่สุด ไม่อย่างงั้นสีที่ทาใหม่หลุดล่อนได้ค่ะ
การซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์
- พยายามเอาความชื้นออกจากเฟอร์นิเจอร์ให้มากที่สุด
- พวกที่บุด้วยนุ่นหรือฟองน้ำ ถ้าเป็นไปได้ควรเปลี่ยนเลย เพราะน้ำจะพาเอาเชื้อโรคมาติดอยู่ ถึงจะตากแดดให้แห้งยังไง เชื้อโรคก็ยังมีอยู่ค่ะ
- ในส่วนของ Built in ต้องตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างและสายไฟที่ฝังอยู่ในตู้ รวมถึงทำความสะอาดรูกุญแจและลูกบิด
- ส่วนเฟอร์นิเจอร์ไม้ ไม่ควรนำไปตากแดด เพราะจะทำให้บิดงอได้ และถ้าจะทาสีใหม่ ควรรอให้แห้งสนิทก่อน เพื่อกันการลอกของสีค่ะ
ขจัดเชื้อโรค-เชื้อรา
- สำหรับพื้น เก้าอี้ เครื่องไม้เครื่องมือ เตาอบ ผนังบ้าน สามารถใช้น้ำยาประเภทล้างครัวเรือน เพื่อขจัดเอาเชื้อโรค-เชื้อราที่ฝังตัวออกไป
- สำหรับเสื้อผ้าที่จมน้ำท่วม ซักผ้าแล้วลวกในน้ำร้อนจะดีที่สุดนะคะ
- สำหรับจานชามช้อนให้ล้างด้วยน้ำยาล้างจานได้ปกติค่ะ
- ที่สำคัญระหว่างทำความสะอาดอย่างลืมใส่ถุงมือและหน้ากาก หลีกเลี่ยงการสัมผัสสูดดมทั้งเชื้อโรคและสารเคมีน้ำยาที่ใช้นะคะ